อธิบดีกรมควมคุมโรค เยี่ยมชมการทำงาน มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 340 ครั้ง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมการทำงานของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (ซอยด๊อก) จ.ภูเก็ต เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรค อันจะทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้าแห่งแรกของประเทศไทย

มูลนิธิฯ นำเสนอการดำเนินงานทำหมันและฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขและแมวในจังหวัดภูเก็ตผ่านกระบวนการ CNVR (จับ, ทำหมัน, ฉีดวัคซีน, ปล่อยกลับสู่ถิ่นเดิม) ตั้งแต่การจับสุนัขและแมวมาจากถิ่นที่อยู่อาศัยโดยร่วมมือกับผู้แลสัตว์ในชุมชนที่มีความคุ้นชินกับสัตว์ในการชี้เป้าจุดที่อยู่ จากนั้นจึงนำมาผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนโดยสัตวแพทย์ที่ศูนย์พักพิงของมูลนิธิฯ หรือที่หน่วยทำหมันเคลื่อนที่ซึ่งจะย้ายพิกัดไปตามจุดต่าง ๆ รอบเกาะภูเก็ต มีการทำสัญลักษณ์ที่ใบหูเพื่อลดความเสี่ยงในการจับสัตว์ตัวเดิม เมื่อสัตว์ฟื้นตัวดีแล้วจึงส่งกลับสู่จุดเดิม สุนัขเหล่านี้จะสามารถคุ้มกันชุมชนของตัวเองไม่ให้สัตว์หน้าใหม่ที่ยังไม่ได้รับการทำหมันและฉีดวัคซีนเข้ามาในพื้นที่ ทำให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เมื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด จึงสามารถควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในภูเก็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเก็บบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและความร่วมมือกับชุมชนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการทำหมันฉีดวัคซีนสัตว์เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้ารุดหน้าและประสบความสำเร็จ เนื่องจากสามารถรู้จำนวนสัตว์ในแต่ละชุมชนทั้งที่ทำหมันแล้วและยังไม่ได้รับการทำหมัน ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยสัตว์สามารถลงพื้นที่เข้าถึงตัวสุนัขในจุดต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำและเอื้อต่อการวางแผนงาน อีกทั้งแต่ละชุมชนจะมีผู้ดูแลสุนัขและแมวที่รู้ข้อมูลของสัตว์ในชุมชนของตนเองเป็นอย่างดี ซึ่งสามารถนำรูปแบบกระบวนการ CNVR ไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ได้ โดยมูลนิธิฯ กำลังดำเนินการหน่วยทำหมันเคลื่อนที่ตามกระบวนการนี้ทั้ง 14 หน่วยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลและภาคใต้

ข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายโรคพิษสุนัขบ้าฯ พบว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์มานานกว่า 4 ปี มีคุณสมบัติในการรับการประเมินรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าระดับจังหวัด หากประสบผลสำเร็จจะเป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้าแห่งแรกของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2566

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 340 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน