อลงกรณ์ เชื่อมั่น “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” มิติใหม่การปฏิรูปภาคเกษตรของไทยสู่มูลค่าสูง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 932 ครั้ง

อลงกรณ์ เชื่อมั่น 12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน คือคานงัดปฏิรูปสร้างจุดเปลี่ยนนำไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงตอบโจทย์ Next Normal

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ เขียนบทความเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย เรื่อง “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน มิติใหม่การปฏิรูปภาคเกษตรของไทย” โดยเชื่อมั่นว่าเป็นคานงัดการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและกระทรวงเกษตรฯ ยุค “รัฐมนตรีเฉลิมชัย” เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนในมิติต่างๆ อย่างน่าสนใจ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบกว้างไกลทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ชะลอตัว ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์แพงขึ้น กระทบต่อราคาและระบบผลิตอาหารทั่วโลก เกิดภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น นับเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่ยาวนานมากว่า 2 ปี ที่ยังไม่มีใครคาดเดาว่าจบลงเมื่อใด แต่ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) วิเคราะห์ว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร และนี่คือโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก ที่จะปฏิรูปตัวเองสร้างความเข้มแข้งและขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทย

ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ผมจะเล่าเรื่อง “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน มิติใหม่ภาคเกษตรของไทย” เป็นแพลตฟอร์มการปฏิรูปสร้างจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อตอบโจทย์โอกาสของวันนี้และอนาคตที่กำลังจะมาถึง

ก้าวที่ 1 ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม

เราจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) เรียกสั้นๆ ว่า ศูนย์ AIC 77 จังหวัด เป็นฐานการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based Development) ของเทคโนโลยีในทุกจังหวัดและจัดตั้งศูนย์ AIC ประเภทศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน (Center of Excellence:COE) อีก 23 ศูนย์ โดยศูนย์ AIC ทำหน้าที่เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) และเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาและเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรผู้ประกอบการและถ่ายทอดนวัตกรรมเน้นเมดอินไทยแลนด์ (Made In Thailand) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองโดยคิกออฟพร้อมกันทุกศูนย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 วันนี้เรามีเทคโนโลยีเกษตร 766 นวัตกรรมที่ถ่ายทอดต่อยอดสู่แปลงนาแปลงสวนแปลงไร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 10,000 รายแล้ว

ก้าวที่ 2 ระบบบิ๊กดาต้าเกษตร

เราจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center:NABC) ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิตอลใหม่ๆตั้งอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เริ่มดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2563 ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีข้อมูล (Information Technology) คือเครื่องมือเอนกประสงค์ของทุกภารกิจและทุกหน่วยงานโดยกำลังเชื่อมต่อกับ Big Dataของหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันเกษตรกรและศูนย์ AIC ทุกจังหวัด โดยจะให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลเกษตรในมิติต่างๆ บนมือถือและคอมพิวเตอร์

ก้าวที่ 3 ดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)

เรากำลังปฏิรูป 22 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (TechMinistry) ภายใต้โครงการ GovTech อย่างคืบหน้า ด้วยแพลตฟอร์มดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) เพื่อ เปลี่ยนการบริหารและการบริการแบบอนาล็อคเป็นดิจิตอล เปลี่ยนการลงนามอนุมัติด้วยมือเป็นลายเซ็นดิจิตอล (Digital Signature) และเร่งรัดพัฒนาการโครงการ National Single Window สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เป็นการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ใหม่ในการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก้าวที่ 4 เกษตรอัจฉริยะ

เราขับเคลื่อนฟาร์มอัจฉริยะ (smart farming) ตามแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของไทย เช่น ระบบสมาร์ทฟาร์ม ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดดินน้ำอากาศและการอารักขาพืช การพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร การปรับระดับพื้นแปลงเกษตร (Land Leveling) ระบบเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (Sead Technology) ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ระบบชลประทานอัจฉริยะ รวมทั้งการใช้โดรนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและแพลตฟอร์มเกษตรดิจิตอล (Agrimap platform) โดยมีโครงการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) 5 ล้านไร่ เป็นโครงการเรือธงโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC : Agritech and Innovation Center) รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดแบบออนไลน์ (Digital Marketing) โดยการสนับสนุนแพลตฟอร์มร้านค้าอีคอมเมิร์ซ และโครงการพัฒนาเกษตรกรเป็นนักการค้าออนไลน์ทุกจังหวัดเช่นโครงการ Local Hero เป็นต้น โดยมีทีมเกษตรอัจฉริยะ ทีมอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ทีม Big Data และ GovTech ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 รับผิดชอบ

ก้าวที่ 5 เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง-ชนบท

เราริเริ่มโครงการใหม่ๆ เช่น การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development) อย่างเป็นระบบมีโครงสร้างครอบคลุมทั่วประเทศเป็นครั้งแรกตอบโจทย์การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่ขาดความมั่นคงทางอาหารและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ (ประชากรไทยในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562)

ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ การพัฒนาสวนยางยั่งยืนรวมทั้งการพัฒนาแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนฐานศาสตร์พระราชา 4,009 ตำบล และโครงการข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ฯลฯ นับเป็นการวางหมุดหมายใหม่ของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตรและเกษตรธรรมชาติทั้งในเมืองและในชนบทครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

ก้าวที่ 6 เกษตรแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต

เราขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต พืชแห่งอนาคต (Future Food Future Crop) เพื่อสร้างเกษตรทางเลือกใหม่แปรรูปเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ เวชสำอางค์ เวชกรรม น้ำมันชีวภาพเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้เกษตรกรของเราและเป็นสินค้าส่งออกตัวใหม่สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นการตอบโจทย์เทรนด์ของโลกยุค Next Normal ที่สนใจสุขภาพมากขึ้นหลังจากเกิดโควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Covid Pandemic) ได้แก่ การสนับสนุนโปรตีนทางเลือกจากแมลง (Edible Inseat base Protein) ตามนโยบายฮับแมลงโลก ปัจจุบันมีเกษตรกรกว่า 1 แสนรายทำฟาร์มแมลง เช่น ดักแด้ไหม ดักแด้อีรี่ จิ้งหรีด แมลงวันลาย (bsf) หนอนนก ฯลฯ สอดรับกับนโยบายขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ประกาศว่าแมลงกินได้ Edible Insect คืออนาคตใหม่ของโปรตีนโลกและทศวรรษแห่งโภชนาการ รวมไปถึงโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant base Protein) เช่น สาหร่าย ผำ เห็ด ถั่วเหลืองถั่วเขียว แหนแดง ฯลฯ มีบริษัท startup ใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายบริษัท และการส่งเสริมอาหารฮาลาล ซึ่งมีลูกค้ากลุ่มประชากรมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมกว่า 2 พันล้านคน มูลค่าตลาดกว่า 30 พันล้านบาท

ก้าวที่ 7 โลจิสติกส์เกษตร เชื่อมไทย-เชื่อมโลก

เราได้วางโรดแม็ปเส้นทางโลจิสติกส์เกษตรเชื่อมไทยเชื่อมโลกในระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทั้งทางรถทางรางทางน้ำและทางอากาศ (Low Cost Air Cargo) เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงตลาดทั่วโลกและตลาดเป้าหมายใหม่เช่นโครงการดูไบคอริดอร์-ไทยแลนด์ คอริดอร์ (Dubai Coridor- Thailand Corridor), เส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่ (BRI) เชื่อมไทย-ลาว-จีน-เอเซียใต้-เอเซียตะวันออก-เอเซียกลาง-ตะวันออกกลาง-รัสเซียและยุโรป และกำลังเปิดประตูใหม่จากอีสานสู่แปซิฟิกไปทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และเปิดประตูตะวันตกประตูใต้สู่ทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียสู่เอเซียใต้ อัฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป

ก้าวที่ 8 เกษตรแปลงใหญ่ สตาร์ทอัพเกษตร

เรากำลังปรับเปลี่ยนเกษตรแปลงย่อยเป็นเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm) ซึ่งขณะนี้ขยายเพิ่มเป็นกว่า 8,000 แปลง โดยมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลเกษตรและระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปีนี้จะเริ่มโปรแกรมอัพเกรดวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่และสถาบันเกษตรเป็นสตาร์ทอัพเกษตร (startupเกษตร) และเอสเอ็มอี เกษตร (SME เกษตร)

ก้าวที่ 9 ยกระดับเกษตรกรก้าวใหม่

เราพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เป็น young smart farmer ได้กว่า 20,000 คน และส่งเสริมพัฒนาศูนย์ ศพก. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอำเภอโดยสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (smart farmer) ปราชญ์เกษตรและอาสาสมัครเกษตร (อกษ.) เป็นทีมงานแนวหน้าทุกหมู่บ้านชุมชนพร้อมกับยกระดับเกษตรกรที่มีประสบการณ์สู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพโดยร่วมมือกับภาคเอกชน ศูนย์ AIC สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งเป็นองค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอว. และกระทรวงพาณิชย์

ก้าวที่ 10 เกษตรสร้างสรรค์สู่ The Brand Project

เรากำลังนำระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) มาใช้ในการเดินหน้าสู่เกษตรสร้างสรรค์เกษตรมูลค่าสูงด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างแบรนด์ (Branding) ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตร พืช ประมง และปศุสัตว์ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศภายใต้โครงการ เดอะ แบรนด์ โปรเจ็ค (The Brand Project)

ก้าวที่ 11 การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ไม่มีเหลื่อมล้ำ

เราบริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ควบคู่กับการบริหารการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ เช่น โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งหมด 18 กลุ่มจังหวัดครอบคลุม 77 จังหวัดเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลผลิตเกษตรตามศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัดเพื่อกระจายโอกาสการพัฒนาทุกภาคทุกจังหวัดไม่ให้เจริญแบบกระจุกตัวเหมือนที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาโดยปลายปี 2564 รัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรทุกอำเภอทุกจังหวัดและปีนี้กำลังจัดตั้งคณะทำงานเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,435 ตำบล ให้แล้วเสร็จเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนระดับพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เรายังริเริ่มและเดินหน้าอีกหลายโครงการเช่นการจัดตั้งองค์กรชุมขนประมงท้องถิ่น 2,600 องค์กร ใน 50 จังหวัด การดำเนินการโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ตอบโจทย์ Climate Change โดยเพิ่มต้นไม้ลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งโครงการพัฒนาระบบความเย็น (Cold Chain) ตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวแบบ Nitrogen Freezer เป็นต้น

ก้าวที่ 12 เปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform)

ความก้าวหน้าของงานแต่ละด้านเกิดจากการบริหารแบบเปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform) ในการทำงานกับทุกภาคีภาคส่วน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่างๆ สถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย สถาบันเกษตรกร สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เครือข่ายองค์กรเอกชน ทุกกระทรวงและทุกพรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลโดยยึดประโยชน์บ้านเมืองมาก่อนประโยชน์ทางการเมืองได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ ประการสำคัญคือการทำงานอย่างทุ่มเทของคนกระทรวงเกษตรฯ

ศักยภาพใหม่สู่เกษตรมูลค่าสูง

งานหนักและอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอีกมาก แต่ด้วยก้าวใหม่ๆ ตามโรดแม็ปที่วางไว้ เราเดินเข้าใกล้เป้าหมายในทุกก้าวที่กล้าเดินเพื่อปรับรากฐานเดิมสร้างกลไกใหม่สำหรับยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรกรรมของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ รัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน และการบริหารงานราชการของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และบุคลากรทุกคน รวมทั้งทุกภาคีภาคส่วนโดยเฉพาะ รองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ ที่ร่วมขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” และการสนับสนุนของรัฐบาลยังมีอีก “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” ที่จะเล่าให้ฟังเร็วๆ นี้ครับ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 932 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน