ปิดกล่อง บัญชีกลางเคาะโต๊ะตามมติ (กฟภ.) ชี้ “บูรพา” ทิ้งงานสร้างเสาไฟฟ้าปัตตานี

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1830 ครั้ง

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค.64 นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1399/2564 เรื่อง การสั่งให้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน โดยมีรายละเอียดว่า

ด้วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งชื่อ บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียวิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในงานจ้างเหมาก่อสร้าง สายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2- สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นเงินจำนวน 125 ล้านบาท ตามสัญญาเลขที่ จ.ป.218/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 เนื่องจากบริษัทฯ เป็นคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ปลัดกระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจตามมาตรา 109 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (5) แห่งพระราชบัญญัติฯ เห็นว่า กรณีนี้ภายหลังลงนามในสัญญา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ได้รับหนังสืออนุญาตไปก่อน หากได้รับหนังสืออนุญาตเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

ต่อมา (กฟภ.) ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ เร่งจัดทำแผนก่อสร้าง พร้อมทั้งให้บริษัทฯ รายงานผลความคืบหน้าทุกเดือน และหากมีเหตุการณ์ความไม่ปกติให้บริษัทฯ รีบทำหนังสือขอสงวนสิทธิ์แจ้ง (กฟภ.) ทันที พร้อมทั้งให้บริษัทฯ ปรับแก้ไขรายละเอียดแบบก่อสร้างให้เรียบร้อย แล้วนำส่ง (กฟภ.) เพื่อขออนุมัติ บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งนัดตรวจรับงานครั้งที่ 1 ซึ่ง (กฟภ.) ได้การตรวจรับงานครั้งที่ 1 แล้ว และให้บริษัทฯ นำเสนอวิธีการที่จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนใหม่ บริษัทฯ ได้นำส่ง Shop Drawing โดย (กฟภ.) ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมสามารถก่อสร้างได้

ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งนัดตรวจรับงานครั้งที่ 2 และขอขยายระยะเวลาสัญญา จำนวน 60 วัน (กฟภ.) ได้ตรวจรับงานครั้งที่ 2 แล้ว และแจ้งให้บริษัทฯ นำส่งเอกสารรับรองจากหน่วยงานราชการเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขยายระยะเวลาสัญญา เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินการล่าช้า (กฟภ.) จึงได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ นำเสนอวิธีการทำงานให้แล้วเสร็จ และบริษัทฯ ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง กรณีน้ำท่วมพื้นที่ก่อสร้าง กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี (กฟภ.) ได้มีหนังสือแจ้งค่าปรับ และให้บริษัทฯ นำส่งรายงานความก้าวหน้าของงาน แต่บริษัทฯ เพิกเฉย (กฟภ.) จึงแจ้งให้บริษัทฯ เข้าร่วมประชุมติดตามการทำงาน และเร่งรัดให้บริษัทฯ นำส่งรายงานเพื่อใช้ประกอบการอนุมัติขยายระยะเวลาส่งมอบงาน

ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่ก่อสร้าง และนำส่งรายงานประจำเดือนเพื่อประกอบการขยายระยะเวลาสัญญา บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้ (กฟภ.) ตรวจรับงานครั้งที่ 3 ซึ่ง (กฟภ.) ได้มีการตรวจรับงานครั้งที่ 3 แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯ ตำเนินการล่าช้ากว่าแผนงาน (กฟผ.) จึงแจ้งให้บริษัทฯ จัดทำแผนการก่อสร้าง พร้อมทั้งทำหนังสือชี้แจง บริษัทฯ ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาก่อสร้างอีกครั้ง เนื่องจากน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่ง (กฟภ.) อนุมัติขยายระยะเวลาการก่อสร้างให้บริษัทฯ จำนวน 120 วันและบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้ (กฟภ.) ตรวจรับงานครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 ซึ่ง (กฟภ.) ได้ตรวจรับงานครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 เรียบร้อยแล้ว

เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานตามระยะเวลาที่ขยายเพิ่ม บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ (กฟภ.) ได้มีหนังสือเร่งรัดให้บริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ซึ่ง (กฟภ.) พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญาต่อไปได้ เนื่องจากไม่สามารถเขื่อมต่อระบบได้ตามแผนงาน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย (กฟภ.) จึงบอกเลิกสัญญา

เมื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจงเหตุผล บริษัทฯ ชี้แจงว่า บริษัทฯ ไม่สามารถเข้าทำงานในพื้นที่ได้ทันทีหลังจากลงนามในสัญญา การส่งมอบพื้นที่ได้ส่งมอบเพียงบางส่วน อีกทั้งพื้นที่ก่อสร้างมีความซับซ้อนและมีความยากในการเข้าถึงพื้นที่มากกว่าพื้นที่ที่เคยดำเนินการในโครงการอื่น ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ก่อสร้างมีน้ำท่วมขัง ส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้ อีกทั้งการปักเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้องมีการพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง มีงานขุด งานตัด และงานติดตั้งในที่สูงเหนือต้นไม้ โดยพนักงานต้องทำงานกลางแจ้งและทำงานอยู่บนที่สูง หากมีเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนองย่อมมีความเสี่ยง รวมทั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่ไม่อาจเข้าทำงานได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดเอียง อีกทั้งทุกครั้งที่เกิดความไม่สงบจะส่งผลต่อการทำงานของ บริษัทฯ เพราะพนักงานและบริษัทฯ เกิดความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยเป็นเหตุให้พนักงานของบริษัทฯ มีการหยุดงานและลาออกจำนวนมาก

ส่วนการเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างและเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องหลายรายการ กรณีนี้ต้องใช้เวลาเพิ่มในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของแบบ และการแจ้งให้หยุดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งเหตุดังกล่าวให้ (กฟภ.) ทราบแล้วแต่ (กฟภ.) ไม่เคยพิจารณาขยายระยะเวลาให้กับบริษัทฯ ซึ่ง (กฟภ.) พิจารณาข้อชี้แจงของ บริษัทฯ แล้วไม่อาจรับฟังได้เนื่องจาก (กฟภ.) ได้ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทฯ โดยให้เริ่มดำเนินการในส่วนที่ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้วไปก่อน ส่วนที่เหลือเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะแจ้งให้บริษัทฯ ทราบภายหลัง ซึ่ง (กฟภ.) ได้ดำเนินการขออนุญาตทั้งหมด 9 ช่วง ได้รับอนุญาตแล้ว จำนวน 5 ช่วง ต่อมาได้แจ้งอนุญาตเพิ่มอีก 3 ช่วง ขาดอีก 1 ช่วงซึ่งบริษัทฯ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการขยายระยะเวลาการทำงานกรณีภัยธรรมชาติ ฝนตกน้ำท่วม กรณีนี้ (กฟภ.) ได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างแล้ว จำนวน 120 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี เหตุการณ์ที่บริษัทฯ แจ้งอยู่นอกพื้นที่โครงการ การแก้ไขแบบก่อสร้าง ได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนแบบ ซึ่งบริษัทฯ ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่อื่นได้ เมื่อ (กฟภ.) บอกเลิกสัญญา ผลการดำเนินการก่อสร้างยังดำเนินการไม่ถึงพื้นที่ดังกล่าว ส่วนการแจ้งให้หยุดงานเทศกาลสงกรานต์ บริษัทฯ ไม่ได้ส่งหนังสือขอสงวนสิทธิ์ช่วงเวลาดังกล่าวให้ (กฟภ.) พิจารณา

ดังนั้น พฤติการณ์ของบริษัทฯ จึงถือได้ว่าเป็นคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อยู่ในหลักเกณฑ์การลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงานตามมาตรา 109 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติฯ จึงมีคำสั่งให้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน

ทั้งนี้ บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) มีสิทธิอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงการคลังโดยให้ทำเป็นหนังสือระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย ส่งไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือยื่นด้วยตนเอง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับแจ้งคำสั่ง ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1830 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน