ผู้เชี่ยวชาญแนะ 5 ข้อสังเกตข่าวปลอม เผย 5 เฟกนิวส์โควิด “คนเชื้อ-แชร์มากสุด” ชี้ ก่อนส่งต่อ ต้องเช็คให้ชัวร์

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 948 ครั้ง

รายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “ระวัง! คุณอาจเป็นคนปล่อย Fake News โควิด แบบไม่รู้ตัว” โดยมี นายสันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล

นายสันติภาพ กล่าวว่า ข่าวปลอม หรือ Fake News คือข่าวสารทั้งมีและไม่มีเจตนาในการปล่อยออกมาแต่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งพบกันมานานแล้ว เช่นความเชื่อบางอย่างที่ไม่ตรงกับข้อมูลจริง หรือแม้กระทั่งเกิดจากความหวังดีต้องการแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพที่อาจจะไม่ถูกต้อง เช่น แนะนำยาสำหรับรักษาโรค ไปจนถึงเจตนาสร้างผลประโยชน์ เช่น เว็บไซต์ปล่อยข่าว พาดหัวข่าวที่ทำให้คนสนใจคลิกเข้ามาอ่าน แล้วเกิดเป็นรายได้ขึ้น แต่ที่น่ากลัวคือการโจรกรรมข้อมูลโดยการลวงให้คนกดคลิกเข้าไปลงทะเบียนเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหน่วยงานทั้งรัฐบาล เอกชน และสื่อร่วมกันเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ส่วนของรัฐก็จะมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทำงานเข้าปีที่ 3 ให้ประชาชนส่งข่าวผ่านช่องทางติดตามในเฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่นไลน์ ให้ศูนย์ฯ ยืนยันข้อมูลที่ถูกต้อง และใช้ระบบ Social TRUTH เพื่อติดตามความสนใจหรือคำค้นหาในโซเชียลมีเดียช่วงใดช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะมีการพิสูจน์ความจริงให้ประชาชน หรือทางเอกชนก็จะมีโคแฟค (CoFact) เป็นต้น

ดร.ชำนาญ กล่าวว่า รูปแบบข่าวปลอมมี 3 กลุ่มหลัก คือ การบิดเบือนข้อมูลเล็กน้อย (Misinformation) การใส่ข้อมูลปลอมจำนวนมาก (Disinformation) และ ข้อมูลที่มีเจตนาทำร้ายหรือทำให้เกิดเหตุการณ์เชิงลบ (Malinformation) ทั้งนี้ การแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมีโทษทางอาญาและแพ่ง แต่ต้องมาดูว่ากระทำผิดกฎหมายฉบับใด เช่น การแชร์ข้อมูลไม่ถูกต้องผ่านออนไลน์ เมื่อส่งผลกระทบก็จะผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 มี พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.การควบคุมโรคอยู่ ฉะนั้นหากเราส่งต่อข้อมูลปลอมที่ทำให้คนตื่นกลัวก็จะผิดกฎหมายฉบับเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักในการส่งต่อข่างปลอม เพราะการเขียนจะมีข้อมูล เนื้อหา รูปภาพในการกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดความเชื่อ ดังนั้น ประชาชนต้องสังเกต 5 ข้อ คือ 1. ที่มาข้อมูล 2. ลักษณะเนื้อหา ที่มีเหตุผล ซึ่งข่าวปลอมกว่า 90% จะมีข้อมูลกับรูปภาพไม่สอดคล้องกัน 3. ชื่อของ URL ที่ไม่ใช่สำนักข่าว 4. หมั่นสังเกตการใช้ภาพเก่ามารีไซเคิล ซึ่งเราต้องใช้ระบบเสิร์ชเอนจิน (search engine) เพื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ และ 5. เปรียบเทียบแหล่งข่าวอื่น

“เมื่อรับข่าวมาแล้วเราต้องใจนิ่งๆ คิดไว้ว่าเป็นข่าวปลอม 50:50 อย่าเพิ่งส่งต่อ แต่ให้เอามาผ่านกระบวนการทั้ง 5 ข้อข้างต้น เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ หากเราเชื่อว่าใช่ แล้วจึงค่อยส่งต่อ ปัจจุบันต้องระวังมากขึ้นเพราะนอกจากปลอมข่าวแล้วยังมีการปลอมเสียง ปลอมใบหน้า ตัดต่อรูปเป็น Deepfake AI ได้ ทำให้ข่าวปลอมเนียนมากขึ้น” ดร.ชำนาญ กล่าว

ด้าน นพ.ฆนัท กล่าวว่า สำหรับข่าวปลอมช่วงโควิด-19 ไม่ได้มีแค่ในไทย จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนถึงโรคข้อมูลระบาด (Infodemic) เช่น เริ่มแรกที่มีวัคซีนก็จะมีข่าวเกี่ยวกับฝังไมโครชิพ (Microchip) ในผู้ที่รับวัคซีน หรือการดื่มน้ำปัสสาวะป้องกันโควิด ที่เขียนเกี่ยวกับการใช้ศาสตร์แผนจีน ซึ่งทำให้ดูมีเหตุผลน่าเชื่อมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริง ขณะเดียวกัน ทางการแพทย์ก็พบข่าวปลอมเยอะมาก เมื่อจัดลำดับก็พบว่าอันดับต้นๆ เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับการขายสินค้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมื่อมีโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความเร็วจึงแก้ไขได้ยากและส่งผลกระทบมาก อย่างเช่นข้อมูลว่าหากติดโควิดแล้วไม่ต้องโรงพยาบาลให้กินสมุนไพรชนิดหนึ่งแล้วจะหาย โดยอ้างอิงแพทย์ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ทำให้คนหลงเชื่อได้ง่าย รวมถึงคนไม่เชื่อมั่นรัฐบาลด้วยเหตุผลต่างๆ ก็มีการปล่อยข่าวปลอมแล้วอ้างว่าเป็นข่าวลับ ซึ่งเป็นข่าวที่คนอยากรู้อยู่แล้วแต่หาหลักฐานไม่ได้ ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีหน่วยงานสร้างบทบาทสำคัญ สร้างความรอบรู้ให้ประชาชน

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 25 เม.ย.65 มีการแชร์ข่าวปลอมสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. กทม.อัพเดต 36 สถานที่เสี่ยงโควิด 2. การป้องกันโควิดด้วยผ้าอนามัยประกบกับหน้ากากอนามัย 3. สเปรย์ลำไยพ่นลำคอ จมูกป้องกันโควิด โยจุฬาเภสัช 4. กินฟ้าทะลายโจร 3 แคปซูลก่อนออกจากบ้าน ป้องกันโควิดได้ 12 ชั่วโมง และ 5. คลิปเสียงหมอศิริราชแนะกินยาเขียวรักษาโควิด

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารรายการ Covid Forum ในทุกสัปดาห์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมตอบทุกประเด็นข้อสงสัย เพื่อให้ทุกท่านดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 948 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน