แพทย์ เผยแนวทางดูแลสูงวัยติดโควิดแบบ HI ย้ำ ต้องรู้เร็วรักษาไว ป้องกันสูญเสีย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 682 ครั้ง

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “ในยุคโควิด ดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคและผู้สูงอายุอย่างไร?” ว่า ในช่วงที่ต้องพบปะคนหลากหลาย สำหรับกลุ่มสูงอายุ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็ม 3 ด้วยชนิด mRNA เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระดับสูง ย้ำในผู้สูงอายุหากมีอาการป่วยแม้แต่ไข้เล็กน้อย บวกกับไอแห้งถี่ๆ ก็ต้องตรวจ ATK ทันที เนื่องจาก ศบค. รายงานข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตพบว่าหลายรายได้รับการรักษาช้า เพราะคิดว่าตนเองไม่ได้ติดโควิด ประกอบกับบางส่วนไม่ได้รับวัคซีน

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุนอกจากการรักษากายแล้วจำเป็นต้องให้กำลังใจ ดังนั้นการดูแลรักษาที่บ้าน(HI) ก็ช่วยให้สภาพจิตใจผู้สูงอายุที่ติดเชื้อดีขึัน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น หัวใจ ไต ปอด และยังมีปัจจัยจากการสูบบุหรี่ ทำให้อวัยวะที่ต้องสู้กับเชื้อไม่สมบูรณ์เท่ากับคนหนุ่มสาว รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ด้าน นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาพบการสูญเสียในผู้สูงอายุ เพราะได้รับการรักษาช้า ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด ให้ถือว่าเป็นกลุ่มสีเหลืองทันที โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ และต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที ขณะที่ บางรายไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล (รพ.) สามารถรักษาที่บ้านได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสมีความจำเป็นมากที่ต้องรับใน 3-5 วันหลังจากมีอาการ โดยตอนนี้มี 3 ชนิดคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาแพ็กซ์โลวิด และ ยาโมลนูพิราเวียร์

นพ.ฆนัท กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ติดเชื้อโควิด ปัญหาใหญ่คือไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ดังนั้น จำเป็นต้องตรวจ ATK หรือในบางรายที่มีอาการแต่ยังตรวจไม่พบเชื้ออาจจะต้องรักษาในเชิงป้องกัน เช่น การให้ยาทันทีเมื่อมีอาการ พร้อมกับพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษา ขณะเดียวกัน การติดเชื้อในกลุ่มที่อายุมากๆ มีความจำเป็นที่ต้องดูแลใกล้ชิด โดยอาจจะต้องมีคนดูแลที่แข็งแรง 1 คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่บ้านได้ เพราะข้อสำคัญคือหากดูแลผู้สูงอายุไม่ดี น่ากลัวกว่าการติดเชื้อโควิด โดยเน้นย้ำว่า ผู้ดูแลจะต้องมีความใส่ใจผู้สูงอายุอย่างมาก สังเกตอาการ เช่น ซึม รับประทานอาหารน้อยลงหรือไม่

“การทำ HI ของผู้สูงวัยไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่มีความพิเศษกว่าในเรื่องการดูแล ที่จำเป็นที่ต้องมีคนดูแล อย่างไรแล้ว ในกรณีที่ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นจะต้องอยู่ใน รพ. ทั้งนี้ ข้อสำคัญในการทำ HI ของผู้สูงอายุคือต้องไม่มีโรคประจำตัว และช่วยเหลือตัวเองได้” นพ.ฆนัท กล่าว

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารรายการ Covid Forum ในทุกสัปดาห์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมตอบทุกประเด็นข้อสงสัย เพื่อให้ทุกท่านดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 682 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน