มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 82 ครั้ง
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 ก.ค.68ที่ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 11 อาคารกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ นายเบเนดิกต์ โฮฟมัน (Mr. Benedikt Hofmann) รักษาการผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (United Nations Office on Drugs and Crime Regional Representative ad interim for Southeast Asia and the Pacific) พร้อมคณะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหารือแนวทางความร่วมมือในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในภูมิภาค โดยมี นางยศวันต์ บริบูรณ์ธนา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วม

โดยประเด็นหลักการหารือ ได้แก่ การควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในไทยและในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ การพัฒนาความสอดคล้องของการบังคับใช้กฎหมายด้านยาเสพติด และมาตรการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในภูมิภาค การควบคุมกัญชาและกระท่อม ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในบัญชีควบคุมตามอนุสัญญาระหว่างประเทศของ UNODC ตลอดจนสถานการณ์ผู้ต้องขังในคดียาเสพติดในประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่า 200,000 ราย

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เชิญ UNODC ร่วมให้ความเห็นและมีบทบาทในการประชุมวิชาการสารเสพติดนานาชาติ ว่าด้วยยาบ้า เมทแอมเฟตามีน และยาเสพติดสังเคราะห์ (2025 International Conference on Drug Policy: Yaba, Methamphetamine, and Synthetic Drugs) ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6 – 8 สิงหาคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร โดย UNODC ยินดีสนับสนุนองค์ความรู้ในการประชุมดังกล่าว โดยเสนอว่าควรมีการหยิบยกประเด็นความท้าทายในการพัฒนาความสอดคล้องของการบังคับใช้กฎหมายด้านยาเสพติด และมาตรการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในภูมิภาค

ในการนี้ UNODC ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของไทยในการควบคุมยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญในระดับภูมิภาค โดยเห็นว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ในภูมิภาค และย้ำว่า คณะอนุกรรมการควบคุมสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายในการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 82 ครั้ง