มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 142 ครั้ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ต.ค.67 ที่ห้องสัมมนากรมราชทัณฑ์ ชั้น 3 อาคารกรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี กรมราชทัณฑ์ และ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนเรือนจำสีเขียวด้วยนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ โดย Black Soldier Fly (หนอน BSF) โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นพยานในพิธีดังกล่าว
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรือนจำสีเขียวด้วยนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้หนอน BSF มุ่งหวังให้ผู้ต้องราชทัณฑ์กว่า 300,000 คน ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “Green Prison” ภายใต้โครงการร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสหการณ์ กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ มุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการจัดการขยะอินทรีย์ที่ต้นทางอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่เรือนจำให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้ต้องขังยังได้รับความรู้และทักษะในการเพาะเลี้ยงหนอน BSF ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ ให้ตนเองและครอบครัวหลังพ้นโทษ สอดคล้องกับภารกิจของกรมราชทัณฑ์ที่ให้ผู้ต้องขังกลับตนเป็นคนดีของสังคม และไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ
ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งกว่าร้อยละ 35-40 ของขยะมูลฝอยชุมชนเป็นขยะเศษอาหาร นโยบายด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จึงมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ตามหลัก 3R (Reduce Reuse และ Recycle) และการคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะมูลฝอยแต่ละประเภทไปกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ใช้ในปัจจุบัน อาทิ ระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล ระบบหมักทำปุ๋ย ระบบหมักแบบไร้อากาศ การเผาในเตาเผาและเผากลางแจ้ง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 8.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการปล่อยในภาคของเสียทั้งหมด (16.88 MtgCO2eq) (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2562/ค.ศ. 2019) กรมลดโลกร้อนจึงได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการจัดการขยะเศษอาหารที่ต้นทางอย่างเหมาะสมด้วยหนอน BSF โดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เรือนจำและทัณฑสถานในรูปแบบออนไลน์กว่า 136 แห่ง และลงมือปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง พบว่า สามารถจัดการกับขยะเศษอาหารได้ดี และยังนำผลผลิตจากหนอน BSF ไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทั้งเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ การลงนาม MOU ในวันนี้ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการขยายผลแนวทางการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างแท้จริง
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 142 ครั้ง