“อลงกรณ์” ประกาศ 10 นโยบายปราบคอร์รัปชั่นของปชป. ยกระดับเป็น “วาระแห่งชาติเร่งด่วน”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 364 ครั้ง

ชูวิสัยทัศน์ต้านโกง “จุรินทร์” โยงเงื่อนไขร่วมรัฐบาล “อลงกรณ์” ประกาศ 10 นโยบายปราบคอร์รัปชั่นของพรรคประชาธิปัตย์ ยกระดับเป็น “วาระแห่งชาติเร่งด่วน” (National Urgent Agenda) เพิ่มโทษอาญา-ยึดทรัพย์ เร่งปฏิรูปราชการและการเมืองลดฉ้อฉลตัดเงื่อนไขรัฐประหาร พร้อมผนึกความร่วมมือภาคประชาชนส่งเสริมแพลตฟอร์มไอที ขจัดทุจริต

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.66 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเสมือนมะเร็งร้ายของประเทศที่อยู่ในขั้นวิกฤตจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเร่งด่วน โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ยกระดับเป็น “วาระแห่งชาติเร่งด่วน” (National Urgent Agenda) ซึ่งผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 ปรากฎว่า ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

จากการประเมินล่าสุด โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) พรรคประชาธิปัตย์ มีความกังวลต่อปัญหานี้และให้ความสำคัญต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงได้จัด “เวที ‘ฟัง-คิด-ทำ’ ต้านโกง” เพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบกับข้อสังเกตขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินำไปสู่การจัดทำเป็นนโยบายต่อต้านการทุจริตให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยยึดปฐมอุดมการณ์ของพรรคที่บัญญัติไว้ว่า “พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน” และแนวทางประชาธิปไตยสุจริต โดยมีแนวทางนโยบาย ดังนี้

1. ยกระดับการต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็น “วาระแห่งชาติเร่งด่วน” (National Urgent Agenda)

2. ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตย สุจริต และหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest)

3. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสื่อมวลชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน

4. ส่งเสริมการเรียนการสอนและการปลูกฝังจิตสำนึก”โตไปไม่โกง”รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ของสังคมถึงภัยร้ายของการคอร์รัปชั่น

5. สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อขจัดการคอรัปชั่นและส่งเสริมแพลตฟอร์มของภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและแก้ปัญหาการทุจริต

6. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการโดยเฉพาะการจัดซื้อและการประมูลภาครัฐทั้งราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

7. ปฏิรูประบบราชการ การเมืองและกระบวนการยุติธรรมเพื่อความโปร่งใส การพัฒนาระบบการอนุมัติ อนุญาตให้มีความโปร่งใส การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน

8. การยกเลิกกฎหมายกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทุจริต

9. การเพิ่มโทษอาญาและการยึดทรัพย์คดีฉ้อราษฎร์บังหลวง การลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับสินบนอย่างจริงจัง

10. การร่วมมือกับนานาชาติในการปราบปรามการทุจริตข้ามชาติทุกรูปแบบภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น

นายอลงกรณ์ ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมฝ่ายค้าน และได้รับการคัดเลือกจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาให้เป็น “ดาวเด่นแห่งปีของรัฐสภา” จากบทบาทการปราบปรามการทุจริต กล่าวต่อไปว่า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเวที ฟัง-คิด-ทำ ต้านโกง ของพรรคประชาธิปัตย์ใน วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคการเมืองพรรคหนึ่งของประเทศที่ดำรงมาอย่างยาวนาน เห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ความซื่อสัตย์สุจริตเป็น 1 ในอุดมการณ์ 10 ข้อ นับแต่ก่อตั้งพรรคมา เป็นหลักตอกย้ำว่าประชาธิปัตย์จะดำเนินการบนหลักความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชนมาตลอด 76 ปี และต่อไปไม่มีวันเสื่อมคลาย

“วันที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ได้ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อ โดย 1 ข้อ คือ ต้องดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่พรรคยึดมั่นมาเสมอไม่ใช่เฉพาะการเข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 7 คน และหัวหน้าพรรคทุกคนไม่มีใครมีปัญหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ เพราะนี่เป็นอุดมการณ์ที่ยึดถือยึดมั่นมาตลอดเวลา การทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นภัยต่องบประมาณของประเทศ กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และยังเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยของประเทศอีกด้วย เพราะการรัฐประหารแต่ละครั้งจะหยิบยกเอาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเงื่อนไขทุกครั้ง ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้สามารถบรรลุผลได้ เพราะจะให้ใครคนใดคนหนึ่งเข้ามาแก้ไขนั้นทำได้ยาก จึงขอเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันขจัดภัยนี้ให้หมดไป อย่าให้การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเครื่องมือเรียกวงจรอุบาทว์กลับมาสู่ประเทศไทยอีก และพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 364 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน