มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 876 ครั้ง
วันนี้ (30 พ.ย.65) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 5/2565 โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 5/2565 พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานหลัก ศรชล. ประกอบด้วย นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีด้านความปลอดภัย กรมเจ้าท่า ผู้แทนอธิบดีกรมเจ้าท่า นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ผู้แทนอธิบดีกรมประมง นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ผู้แทนอธิบดีกรมศุลกากร นายนิพนธ์ ทองอยู่ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติราชการประจำ ศรชล. ผู้แทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พล.ต.ต.พงษ์พิษณุ ภักดีณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเดินเรือ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ นายเกริกไกร นาสมยนต์ ผู้ตรวจราชการกรม ผู้แทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้ง พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. เข้าร่วมประชุม
ในการประชุม ศรชล. ได้แถลงผลการดำเนินงานของ ศรชล. ในปีงบประมาณ 2565 ต่อคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ครอบคลุม 3 วาระ ประกอบด้วย
1. ด้านนโยบายและแผน ศรชล. มุ่งสร้างรูปธรรมในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้ง 7 หน่วยงานหลัก ศรชล. ให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การขับเคลื่อนงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทะเล
2. ด้านยุทธการและการฝึก ศรชล. มุ่งเน้นการบูรณาการการกำกับดูแลการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทางทะเล ในห้วงสถานการณ์โควิด-19 โดยได้มีการบูรณาการการฝึก กับ กองทัพเรือ ประจำปี 2565 การบูรณาการกับการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2565 (CMEX 2022) การฝึกผสม Southeast Asia Cooperation and Training (SEACAT 2022) รวมถึงมีการฝึก PASSENGER SHIP TRAINING ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.)
3. ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและระหว่างประเทศ มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ ศรชล. รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงทางทะเล และองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส นอร์เวย์ แคนาดา มาเลเซียสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นต้น
ทั้งนี้ ศรชล. ได้สรุปข้อมูลผลการปฏิบัติเชิงสถิติต่อภัยคุกคาม 9 ด้าน ในภาพรวมมีผลการปฏิบัติ ในปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งสิ้น จำนวน 425 เหตุการณ์ เหตุที่เกิดขึ้นมากที่สุด ได้แก่ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล รองลงมา คือ การทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในภาพรวมนั้นภัยคุกคามต่างๆ ในทะเลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ศรชล. จึงจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับผลการดำเนินการที่สำคัญของ ศรชล.ในห้วงที่ผ่านมา มีดังนี้
– การประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรป (DG MARE) ในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ครั้งที่ 6 โดยผู้แทน ศรชล. ได้เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 และ 14 ตุลาคม 2565 ซึ่งได้มีการหารืออย่างรอบด้าน โดยฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรป (Director-General of the Directorate General for Maritime Affairs and Fisheries : DG MARE) ได้แสดงความชื่นชมถึงความพยายามของประเทศไทยในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย ที่มีการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบและระบุขั้นตอนให้กระชับและชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังแสดงความขอบคุณประเทศไทยที่ผลักดันเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (ASEAN Network for Combating IUU Fishing : AN-IUU) ซึ่งฝ่ายไทยให้ความมั่นใจกับ DG MARE ยืนยันผลักดันเครือข่าย AN-IUU ให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคอาเซียนต่อไป
– การปฏิบัติการต้อนรับและประชาสัมพันธ์เรือสำราญ Spectrum of the seas เข้าประเทศ ที่จังหวัดภูเก็ต โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ศรชล. ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวและเรือสำราญ Spectrum of the seas เรือสำราญสัญชาติสหรัฐอเมริกาขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่กลับมาสู่ประเทศไทยให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้จอดทอดสมอบริเวณอ่าวป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยมีการจัดแถลงข่าวให้ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวเรือสำราญว่า ศรชล.จะระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลด้วยการเปิดประตูการท่องเที่ยวทางทะเล ต้อนรับเรือสำราญจากนานาชาติที่จะนำพานักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ภายในปลายปี 2570 ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นการท่องเที่ยวในหัวข้อการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ ที่ได้กำหนดไว้แล้วในแผนการปฏิบัติราชการ 5 ปี ของ ศรชล. (พ.ศ.2560-2570)
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์จะมีเรือสำราญเข้าสู่ประเทศไทย จำนวนไม่น้อยกว่า 156 ลำ ในปี พ.ศ. 2566 คาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 876 ครั้ง