มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 708 ครั้ง
สภาอุตสาหกรรมภาคกลาง หนุนโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ ((Petchburi Food Valley) “อลงกรณ์” เดินหน้าผลักดันต่อ เล็งดึงการลงทุนจากในประเทศและดูไบ ซาอุดีอาระเบีย และจีน ขับเคลื่อนโครงการเน้นอุตสาหกรรมสีเขียวใช้เทคโนโลยีเมดอินไทยแลนด์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภาคกลาง 17 จังหวัด ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุรชัย โสตถีรวรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง ดร.เลิศจันฑา สีเหลืองสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี และเลขาธิการกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 นายสมภพ ธีระสานต์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง นายมานพ โตการค้า ผู้บริหารโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคณะกรรมการและที่ปรึกษา สภาอุตสาหกรรมภาคกลาง สภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี ฯลฯ เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมทะเล อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
นายอลงกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้แจ้งมติที่ประชุม “กรกอ.” ครั้งล่าสุดที่เห็นชอบโครงการ เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ (Petchburi Food Valley) ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งทางด้านคมนาคม การสื่อสาร ไฟฟ้า และระบบน้ำ โดยพื้นที่ดังกล่าว เคยเป็นโครงการสร้างเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบริการ ปัจจุบันได้ปรับพื้นที่เป็นโครงการพัฒนาเกษตรกรรมและการแปรรูปทั้งพืช ประมงและปศุสัตว์ตามกฎหมายผังเมืองและกฎหมายอื่นๆ ถือเป็นหนึ่งในโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเป็นโครงการเรือธง (Flagship Project) ของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในกลุ่มจังหวัดเพชรสมุทรคีรี (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงครามและสมุทรสาคร) มีศูนย์ AIC เพชรบุรี คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีให้การสนับสนุน จุดเด่นอีกประการคือการใช้เทคโนโลยีเกษตรเมดอินไทยแลนด์เป็นส่วนใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวและหวังว่าจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนและจังหวัดเพชรบุรีเพิ่มขึ้น
ซึ่งโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ (Petchburi Food Valley) ยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก (Western Economic Corridor: WEC) ตามนโยบายรัฐบาล จากการสร้างฐานการแปรรูปสินค้าเกษตรอาหาร กระจายการลงทุนใน 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียมและยกระดับเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นครัวโลก พร้อมกับขอบคุณสภาอุตสาหกรรมภาคกลางที่ให้การสนับสนุนโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ (Petchburi Food Valley)
จากนั้น นาย มานพ โตการค้า ผู้บริหารโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ ได้รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ (Petchburi Food Valley) โดยประกอบด้วย
1. ศูนย์แสดงนวัตกรรมการเกษตร 70 ไร่ บริเวณด้านหน้าพื้นที่โครงการ เป็นศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมการเกษตร และการเจรจาธุรกิจ ห้องประชุม และศูนย์วิจัยเทคโนโลยี PlatForm การเกษตร ก่อสร้างคืบหน้า 50%
2. การพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแปลงปลูกข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์ 12,000 ไร่ ปัจจุบันปลูกข้าวโพดและหญ้าเนเปียร์แล้ว 5,000 ไร่ เพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีราคาถูก
3. การพัฒนาปศุสัตว์ในรูปแบบคอกโคกลาง 1,600 ไร่ เป็นคอกมาตรฐานมีน้ำสะอาด อาหารสัตว์ราคาถูก และการดูแลรักษาได้มาตรฐานช่วยลดต้นทุนการผลิต สามารถผลิตโคได้ปีละ 100,000 – 150,000 ตัว
4. การพัฒนาการประมงด้วยโครงการฟาร์มกุ้งระบบปิด 2,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลท่าไม้รวกและตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง ซึ่งได้รับอนุญาตจากประมงแล้ว โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการช่วยให้สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตกุ้งอย่างมีคุณภาพ
5. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร 1,000 ไร่ เป็นโซนพื้นที่รองรับการตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร
6. เขตพัฒนาพลังงานสะอาด เช่นโครงการโซล่าฟาร์ม 4,000 ไร่ มีสายส่งขนาด 115KV ผ่าน ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว 900 ไร่ โดยบริษัทด้านโซล่าฟาร์มชั้นนำของประเทศ
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้แนะนำผู้บริหารให้เพิ่มเติมโครงการฮาลาลฟู้ดวัลเลย์ (Halal Food Valley) และอินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ดวัลเลย์ (International Food Valley) ในพื้นที่โครงการด้วยเพื่อดึงการลงทุนและการค้าจากซาอุดีอาระเบียประเทศในตะวันออกกลาง จีน และประเทศต่างๆ ซึ่งตลาดสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า 2 พันล้านคนใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมกับเชิญชวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สนใจมาลงทุนในโครงการเพชรบุรี ฟู้ด วัลเลย์
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ยังขอความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง 17 จังหวัดร่วมขับเคลื่อนโครงการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture ) 5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นอีกโครงการเรือธงของกรกอ.
ทางด้าน นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายสุรชัย โสตถีรวรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง ได้แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจพร้อมกับกล่าวย้ำถึงการสนับสนุนโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สำหรับการประชุมสภาอุตสาหกรรมภาคกลางในครั้งนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมหารือในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในเรื่อง Platform การเพิ่มช่องทางการส่งเสริมการตลาดแบบ B2B การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสมาคมธนาคารไทย (กกร.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ระหว่างสถาบันทั้ง 3 สถาบัน เป็นสถาบันหลักภาคเอกชนในการส่งเสริมการค้า การอุตสาหกรรม และการเงินของประเทศ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 708 ครั้ง