มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 960 ครั้ง
“อลงกรณ์” ร่วมเสวนา “สภาผู้แทนฯ” ชู 5 ยุทธศาสตร์ “เฉลิมชัย” ปฏิรูปภาคเกษตร แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร เน้นแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เกียรติร่วมเป็นวิทยากรการสัมมนาและบรรยายในหัวข้อเรื่อง “การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร โดยการเพิ่มมูลค่าด้านการผลิตการแปรรูป และการตลาด” ร่วมกับ นายวีระกร คำประกอบ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน และมี นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป และการตลาด ของผลผลิตทางการเกษตรให้แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ จำนวน 200 คน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 29 ส.ค. ณ ห้องประชุมสัมมนา B 1-1 ชั้น B 1 อาคารรัฐสภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ และระดมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มมูลค่าด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตร และยกระดับรายได้เกษตรกรให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 13 ของโลก ทำให้สินค้าเกษตรของไทยต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพงทำให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรจึงต้องขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนที่เรียกว่า “คานงัด” เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของโลก
กระทรวงเกษตรฯ จึงสร้างคานงัดเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนแบบองค์รวมเป็นกลไกแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพภาคเกษตรของไทย จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้แก่ 1) ตลาดนำการผลิต 2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) “3 S” เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน 4) เกษตรกรรมยั่งยืน และ 5) บูรณาการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนโดยมีตัวอย่าง คานงัด ที่ดำเนินการ เช่น
1. การสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเกษตร อาทิ การเจรจาความร่วมมือกับประเทศเวียดนามเพื่อยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก ถือเป็นความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือของ 2 ประเทศ ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับที่ 2 และ 3 ของโลก โดยตั้งกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันสร้างอำนาจการต่อรองราคาข้าวในตลาดโลก หรือการยกระดับความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย และดูไบในการขยายตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป
2. ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด”ในรูปแบบ online-offline ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับ กระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ รวมทั้งความร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
3. สร้างโอกาสตลาดใหม่และลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้วยแนวทาง “เชื่อมไทย เชื่อมโลก” เช่น กรณีรถไฟจีน-ลาวขนส่งสินค้าเกษตรไปจีนและร่วมมือกับคาซัคสถาน และดูไบในโครงการท่าบกคอคอสเป็นชุมทางรถไฟบริเวณพรมแดนจีน-คาซัคสถาน เพื่อขนส่งจากอีสานเกตเวย์ไปเอเซียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรป
4. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยนโยบายเทคโนโลยีเกษตรและนโยบายคุณภาพและมาตรฐาน เช่น การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC) ทุกจังหวัดโดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทยยกระดับการผลิตอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน
5. การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างแบรนด์สู่เกษตรมูลค่าสูง เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่ง (กรกอ.) ร่วมเดินหน้าโครงการ “1 กลุ่มจังหวัด1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร” เพื่อกระจายฐานตลาดและฐานการแปรรูปสินค้าเกษตรใน 18 กลุ่มจังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ และโครงการ “เกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่” และขยายเป็น 5 ล้านไร่ เพื่อให้สินค้าเกษตรมีตลาดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและมีผลิตภัณฑ์เกษตรมากขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น
6. ริเริ่มเพิ่มสินค้าเกษตรทางเลือกใหม่แทนสินค้าเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีปัญหาด้านราคาด้วยนโยบายอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เช่น แมลง โปรตีนพืช สาหร่าย ผำ ฮาลาล
7. สร้างกลไกขับเคลื่อนแบบบูรณาการทำงานเชิงรุกทุกภาคีภาคส่วนบนหลักการหุ้นส่วน(Partnership)ระหว่างภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกรไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายทุกชุดของกระทรวงเกษตรฯ ใช้โมเดลทำงานและองค์ประกอบ 4 ฝ่าย
8. บริหารด้านอุปสงค์และอุปทาน (Supply Side & Demand Side management) เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตร เช่น กรณียางพารามีการลดพื้นที่ปลูก 1 แสนไร่ทุกปี พร้อมกับขยายตลาดใหม่ๆ เช่นเดียวกับข้าวที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมให้ผลผลิตต่ำแต่ลงทุนสูงขาดทุนต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนไปสู่พืชทางเลือกที่มีตลาด เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ทั้งยางพารา และข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก แต่ราคาไม่แน่นอนผันผวนตลอดมา จึงต้องบริหารทั้งปริมาณผลผลิตและตลาดไปพร้อมๆ กัน
9. การพัฒนาและบริหารปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ปุ๋ย และพลังงาน ยกตัวอย่างในภาวะปุ๋ยแพงได้ส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์ และลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ มีการจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทยสำเร็จเป็นครั้งแรก หรือโครงการข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ รวมทั้งการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน เช่น ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอลล์ (เอทานอล) แปรรูปจากปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง หรือการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
10. การปฏิรูปการบริหารและบริการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และด้านการให้บริการประชาชน ด้วยโครงการพัฒนา 22 หน่วยงานด้วยระบบดิจิตอล (Digital Transformation) และศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (ระบบบิ๊กเดต้า) รวมทั้งระบบ NSW และลายเซ็นดิจิตอล (Digital Signature) โดยตั้งเป้าหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทย ต้องเป็นกระทรวงที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการรับมือกับโจทย์ปัจจุบันและอนาคต
ตัวอย่าง 10 คานงัด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแบบองค์รวมเชิงโครงสร้างและระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรพร้อมกับสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูงในตลาดโลก จะทำให้เกษตรกรและประเทศมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 960 ครั้ง