ผบ.ทร. นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานศูนย์ PIPO

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1248 ครั้ง

ผบ.ทร. นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ยกระดับการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.65 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 3/2565 โดยมี พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศรชล. ประธานคณะกรรมการบริหาร ศรชล. เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ได้รับทราบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port In Port Out Controlling Center: PIPO) เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ให้ต่อเนื่องและเป็นมาตรฐาน

พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีกำหนดการและสาระที่สำคัญดังนี้ เวลา 09.00  น. เป็นการประชุมระดับผู้บริหาร ศรชล. ทั้ง 7 หน่วยงานหลัก ต่อมาเวลา 09.30 น. เป็นการชมนิทรรศการของ 7 หน่วยงานหลักหัวข้อการจัดนิทรรศการประกอบด้วย ระบบควบคุมการปฏิบัติและติดตามสถานการณ์ทางทะเล C2 System การขจัดคราบน้ำมันในทะเล การปฏิบัติงานในศูนย์ PIPO สถิติผลการจับกุมการปฏิบัติงานด้านศุลกากร มหันตภัยขยะพลาสติกในทะเล และการคุ้มครองแรงงานภาคทะเล

จากนั้นเวลา 10.00 น. เริ่มการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. มีเรื่องที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. การพิจารณาให้ ศรชล. ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ได้แก่

1.1. การเพิ่มอัตรากำลังพลในศูนย์ PIPO โดยจัดกำลังพลจาก ศรชล. และตำรวจน้ำ

1.2. การเพิ่มชุดตรวจประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ (Flying Inspction Team ; Fit)

2. ที่ประชุมฯรับทราบการกำหนดมาตราการและหลักปฏิบัติในการรับเรือท่องเที่ยวจากต่างประเทศของ ศรชล. ภายใต้ ศปก.ศบค. และการจัดทำหลักสูตรการคุ้มครองแรงงานและปราบปรามการค้ามนุษย์ทางทะเลของ ศรชล.

3. ที่ประชุมฯรับทราบกำหนดการฝึกที่สำคัญของ ศรชล.ดังนี้

3.1. การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. บูรณาการฝึกกับกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ในหัวข้อการฝึกการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เพื่อนำเสนอระบบกลไกการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล และการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล โดยได้จัดการฝึกบริเวณเกาะเสม็ด จ.ระยอง เมื่อ 16 มิถุนายน 2565

3.2. การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. บูรณาการกับการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2565 (C-MEX 2022) ในหัวข้อการต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล และการฝึกตรวจค้นการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) โดยกำหนดจัดการฝึกในห้วงเดือน กรกฎาคม 2565

3.3. การฝึกผสม SOUTHEAST ASIA COOPERATION AND TRAINING 2022 (SEACAT 2022) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงทางทะเล มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในทะเล ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ กำหนดจัดการฝึกในห้วงเดือน สิงหาคม 2565

3.4. การฝึกค้นหาและช่วยเหลือเรือโดยสารที่ประสบภัยทางทะเล (Passenger Ship Training) โดยในปีนี้สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย) กระทรวงคมนาคม ขอให้ ศรชล. เป็นแกนกลางในการจัดการฝึก โดยกำหนดจัดการฝึกในห้วงเดือน กันยายน 2565

“ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1248 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน