มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 916 ครั้ง
กฟผ. จับมือ เมืองพัทยา และ ทช. จัดกิจกรรมวางปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าแรงสูง ครั้งที่ 9 ประจำปี 2565 ร่วมฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลบริเวณเกาะล้าน – เกาะสาก พร้อมสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล สอดคล้องหลัก Circular economy และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ เทศบาลเมืองพัทยา และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมจัดวางฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2565 ภายใต้โครงการบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าของ กฟผ. โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ทช. นายวิศิษฎ์ ปฐมเจริญโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดชลบุรี ชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำแบบเดินใต้ทะเล (Sea walker) นักดำน้ำอาสาสมัคร ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของ ทช. และ กฟผ. เข้าร่วมกิจกรรมและลงเรือเพื่อนำฐานลงเกาะวางลงในทะเล ณ บริเวณเกาะล้าน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองพัทยาได้ดำเนินการดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลร่วมกับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมจัดวางฐานลงเกาะปะการังลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการนำวัสดุที่หมดอายุการใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งได้อย่างคุ้มค่า รวมทั้งช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาอีกด้วย
นายวิศิษฎ์ ปฐมเจริญโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบ้านปลาฯ กฟผ. ว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการวางบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของรัฐบาล และหลัก Circular economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กฟผ. ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนินงานในปัจจุบัน โดยกิจกรรมครั้งนี้ กฟผ. ได้ส่งมอบฐานลงเกาะปะการัง ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าให้แก่ ทช. เมืองพัทยา และชมรมผู้ประกอบการ Sea walker ตามลำดับ รวมทั้งสิ้นจำนวน 300 ชุด ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 2 ไร่ แบ่งออกเป็น การนำไปวางที่บริเวณเกาะล้าน จำนวน 200 ชุด และบริเวณเกาะสาก จำนวน 100 ชุด เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลบริเวณเกาะทั้งสองแห่งให้อุดมสมบูรณ์ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์ทะเล รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลเชิงอนุรักษ์ต่อไป
“จากผลการวิจัยโครงการทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ภายใต้สภาวะจำลองสภาพแวดล้อมทางทะเล ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อศึกษาและทดสอบโครงสร้างจุลภาคของผงลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าด้วยเทคนิคพิเศษ และตรวจสอบปริมาณการชะละลายของสารจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของความเค็ม ความถ่วงจำเพาะ และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ไม่พบการละลายของโลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำทะเลเพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง สรุปได้ว่าการนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาใช้ทำเป็นโครงสร้างแหล่งอาศัยให้สัตว์ทะเล สามารถทำได้ และไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือ สิ่งแวดล้อมทางทะเลแต่อย่างใด”
นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ทช. กล่าวขอขอบคุณ กฟผ. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแล รักษา และฟื้นฟูแนวปะการัง โดยการสนับสนุนวัสดุจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าแรงสูง เพื่อนำมาจัดวางเป็นฐานลงเกาะให้กับตัวอ่อนปะการัง และสำหรับเป็นฐานปลูกปะการัง ฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำแบบเดินใต้ทะเล บริเวณเกาะล้านและเกาะสาก ซึ่งพี่น้องผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำแบบเดินใต้ทะเลได้คืนพื้นที่จำนวน 2 ไร่ ให้แก่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเมืองพัทยา เพื่อฟื้นฟูปะการังให้กลับคืนความสมบูรณ์ ซึ่งจากการศึกษาและติดตามจากการดำน้ำสำรวจบริเวณที่วางปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าของ กฟผ. พบว่า มีสัตว์ทะเลหลากชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ ทั้งปลาเศรษฐกิจและปลาสวยงามขนาดใหญ่ รวมทั้งลูกปลาขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ด้านในเพื่อหลบภัย ที่สำคัญคือ มีปะการังจำนวนมากมายึดเกาะและเจริญเติบโตบนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดแวะเวียนเข้ามาหาอาหารบริเวณจุดวางฐานลงเกาะแต่ละแห่งเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ที่ผ่านมา กฟผ. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรนำปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไปวางไว้ใต้ท้องทะเลไทยตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 โดยวางครั้งแรกที่ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากนั้นนำไปวางในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา และภูเก็ต รวมทั้งหมดกว่า 3,400 ชุดแล้ว และจะเดินหน้าโครงการฯ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ พิจารณาเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์ท้องทะเลไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 916 ครั้ง