มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1666 ครั้ง
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการการประชุมเสวนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2564 ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ โดยมี ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมคณะผู้บริหาร สกศ. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา นักวิชาการ ครูผู้สอน ประชาชนที่สนใจตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook และ YouTube : OEC News สภาการศึกษา
ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การประชุมเสวนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยปี 2564 ในครั้งนี้ สภาการศึกษาซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านการขับเคลื่อนและพัฒนากำลังสู่เวทีโลก มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเกี่ยวมุมมองเกี่ยวกับจำนวนปีการศึกษาของประชากรไทยจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ช่วยสะท้อนแนวทางการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาและวางแผนพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอ “ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2564” โดย นายภาณุพงศ์ พนมวัน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ ปีการศึกษาเฉลี่ยถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในดัชนีด้านการศึกษาทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งใน พ.ศ. 2564 นั้นมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยรายจังหวัดในวัยแรงงานอายุ 15-59 ปีดีขึ้นจาก พ.ศ. 2564 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ และกาญจนบุรี และจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยทุกกลุ่มอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดย สกศ. พบข้อมูลน่าสนใจว่าในปี 2564 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ 15-59 ปี) ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญปัจจุบัน เท่ากับ 9.96 ปี หรือมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง 2.54 ปี จากเป้าหมายในปี 2579 ในการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 อยู่ที่ 12.5 ปี หรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ ซึ่งแนวโน้มจะถึงค่าเป้าหมายได้ยาก เนื่องจากต้องเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละ 0.18 ปี
ทั้งนี้มีข้อเสนอในการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยต้องผลักดันระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการบริหารและจัดการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม มุ่งจัดการศึกษาเชิงรุกให้กับประชาชนเข้าเรียนในระบบโรงเรียนได้อย่างสะดวก พัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนให้มีรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตอบสนองต่อตลาดแรงงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้จัดเสวนาเรื่อง รูปแบบและหลักสูตรที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทางการศึกษา โดยมี ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. ด้านนโยบายและการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้แทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายอรรถการ ตฤษณารังสี ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้คนไทยได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ผลักดันหลักสูตรทางการศึกษาตามความสนใจส่วนบุคคลของผู้เรียนตอบสนองโลกยุคใหม่ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กำหนดนโยบายพัฒนาการศึกษาของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
ดร.ตวง อันทะไชย กล่าวว่า โลกตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างศตวรรษที่ 21 กับโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดข้อคำถามว่า ทำไมทุกคนต้องเรียน 8 สาระวิชา ทำไมเราต้องเรียน 1,200 ชั่วโมง ทำไมเราต้องเรียน 6 ปี 12 ปี หรือ ปริญญาตรี 4 ปี เพราะโลกนี้ไม่ได้บอกว่าเราต้องจบ มัธยมศึกษา หรือปริญญาถึงจะประสบความสำเร็จ ในโลกสมัยใหม่เป็นโลกที่ให้ผู้ค้นหาตัวตนเพื่อดึงศักยภาพของตัวเองออกมา มากกว่าการพูดถึงปีการศึกษาเฉลี่ยหรือการจบปริญญา ซึ่งเป็นโลกในทิศทางที่เป็นพหุปัญญา เป็นการดึงศักยภาพตัวเองเพื่อให้เราใช้ชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย มีข้อเสนอโลกที่เปลี่ยนไป การศึกษาก็ต้องเปลี่ยนไปและมีงานทำ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย คือการเพิ่มคุณภาพประชากรไทยเริ่มจากการพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ลดการตกหล่นจากระบบการศึกษา ยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการฝึกทักษะแรงงาน ทดลองเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั้งระบบ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ลดความเหลื่อมล้ำ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตและเพิ่มโอกาสการศึกษา
อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ ตนะกุล กล่าวว่า ถ้าเราเปรียบเทียบการสอนเด็กเหมือนการผลิตสินค้า เราต้องรู้จัก output ว่าเราต้องการอะไร และ Input คืออะไร ต้องมีกระบวนในการประมวลผล ถ้ากระบวนการถูกต้องทั้งหมดถูกต้องเราก็จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ ในการผลิต (พัฒนา) เด็ก Input คือ นักเรียน/นักศึกษา Process คือ กระบวนการพัฒนาการเรียน การสอน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่จะพัฒนาเด็กที่จะผลิต Output ออกมา คือ ผู้สำเร็จการศึกษาให้เป็นตามที่ชาติต้องการ
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ กล่าวว่า ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยที่รายงานผลในแต่ละปีควรมีการนำมาเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงกับโซลูชั่นที่ดีและใหม่เพื่อให้เทรนที่มีอยู่ทุกวันนี้มีความเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน โดยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปีนี้พบว่า GDP ของปี 64 อยู่ที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการจ้างแรงงาน การมีอาชีพ การมีรายได้ของประเทศลดลง
เมื่อพบว่า GDP ลดลงในการจ้างแรงงาน การศึกษาในวัยแรงงานต้องมีการปรับตัวหรือไม่ จะอย่างไรให้คนมีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งในปีนี้มีพบว่าอัตราการตายที่มากกว่าการเกิด ทำให้ประชากรลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเกิดที่มีคุณภาพนั้นลดลงมาก ทำให้รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ เช่น การมีที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในการศึกษา เป็นต้น การทำให้เด็กมีคุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการหาเครื่องมือให้ได้มากที่สุดที่ทำให้เด็กมีสุขภาพที่ดี การเรียนรู้ของคุณแม่ในการดูแลลูก การศึกษาที่ไม่ใช่เฉพาะในระบบแต่เป็นการศึกษาที่มีทุกรูปแบบทุกมิติ ถ้าเด็กไม่มีคุณภาพตั้งแต่แรก ประชากรในวัยแรงงานในวันข้างหน้าจะด้อยคุณภาพตามไปด้วย ต้องหาโจทย์ที่ตีให้แตก นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงทั้งระบบและนำข้อมูลปีการศึกษาเฉลี่ยมาใช้ในการขับเคลื่อนเป็นกระบวนการในการจัดการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนและเท่าทันต่อเหตุการณ์ตามความต้องการของประชากร
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1666 ครั้ง