มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2356 ครั้ง
“อลงกรณ์” ชี้ไทยมีศักยภาพเป็น “ฮับกัญชา-กัญชง” พร้อมบุกตลาดโลก 8 แสนล้าน เดินหน้าประชุมสภาอุตสาหกรรมพุธนี้ “เฉลิมชัย” สั่งให้ความรู้เกษตรกรพร้อมสนับสนุนต้นน้ำถึงปลายน้ำ มอบ AIC ทั่วประเทศร่วมขับเคลื่อน

วันนี้ (4 เม.ย.64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการบรรยายพิเศษให้กับหลักสูตรบูรณาการศักยภาพนักธุรกิจพืชเศรษฐกิจกัญชากัญชง ในหัวข้อ “ทิศทางเกษตรกรรมพืชกัญชากัญชง อาหารอนาคตพืชอนาคต (Future Food Future Crop) กุญแจไขประตูเศรษฐกิจแห่งอนาคต” ที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ พระราม 3 ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเป็น “ฮับกัญชา-กัญชง” และเป็นโอกาสทองของไทยที่จะช่วงชิงตลาดกัญชาและกัญชงมูลค่า 8 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 30% ต่อปี และอีก 4 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท จากการที่ประเทศต่างๆทั่วโลก
ซึ่งขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 68 ประเทศ ที่เปลี่ยนนโยบายจากพืชเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้มีการส่งเสริมการปลูกกัญชาและกัญชง เพื่อการแพทย์และการค้า โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชีย ที่ปลดล็อคกัญชาด้วยการแก้ไข พรบ.ยาเสพติด โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2561 และมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ตามมาด้วยการปลดล็อคกัญชงและกระท่อมในรัฐบาลชุดนี้ ต้องขอบคุณ สนช. สภาปฏิรูปทั้ง สปช. และ สปท. รัฐบาลชุดที่แล้วและรัฐบาลปัจจุบันที่สร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศของเรา

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำใน 4 รูปแบบ คือ เกษตรอาหาร (คนและสัตว์) เกษตรสุขภาพ เกษตรพลังงาน และเกษตรท่องเที่ยว เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นกัญชาและกัญชง
ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้เร่งพัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการเกษตร ทางด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงในทุกมิติ ตั้งแต่กฎหมายข้อระเบียบจนถึงสถานการณ์ตลาดและราคาทั้งในและต่างประเทศ โดยมอบหมายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC 77 จังหวัด เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรานารี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น เป็นกลไกสนับสนุนในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ

ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ในปี 2563 ตลาดกัญชาโลกมีมูลค่า 6 แสนล้านบาท ตลาดกัญชง 1.6 แสนล้าน และปี 2562 ก่อนเกิดโควิดตลาดการท่องเที่ยวสุขภาพในประเทศไทยมีมูลค่า 4 แสนล้านบาท หากพัฒนาโฮมสเตย์ รีสอร์ต และโรงแรมในประเทศไทย เป็นฮับสุขภาพ (Cannabis Wellness Hub) ด้วยรูปแบบผสมผสานของแพทย์แผนไทย นวดไทย สปาไทย โดยใช้กัญชาและกัญชง เป็นจุดขาย เช่น ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน อุรุกวัย นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ จาไมก้า ก็จะสามารถช่วงชิงตลาดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมายังประเทศไทยได้ไม่ยากและเป็นการฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยรวมอีกทางหนึ่ง หลังจากวิกฤติโควิดคลี่คลาย
“การพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชงตั้งแต่การผลิตและการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ การตั้งโรงงานสกัดสาร CBDและ THC จนถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปของสินค้าและบริการต้องโปร่งใส เปิดกว้างต้องไม่มีการผูกขาด เพื่อให้พืชแห่งอนาคตเป็นอนาคตของทุกคนและต้องสร้างแบรนด์เมดอินไทยแลนด์ เช่นตัวอย่างของเดนมาร์ก ประเทศไทยของเรามีชื่อเสียงทางด้านเกษตรอาหารและการท่องเที่ยวในระดับโลกอยู่แล้ว หากต่อยอดด้วยกัญชากัญชงจะเพิ่มฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับเกษตรกรและทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งมือให้เร็วขึ้นให้ทันต่อโอกาสใหม่

แม้แต่ภาคเอกชนของไทยก็เดินหน้ากันเร็วมาก เช่น อิชิตัน จับกระแสเปิดตัวสินค้าใหม่ “อิชิตัน กรีน แลป” ในเดือนเมษายนนี้ มีสรรพคุณผ่อนคลาย และช่วยการนอนหลับ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) (DOD) หลังจากก่อนหน้านี้ ผู้รับซื้อกัญชง ในโครงการรับสมัครผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ของทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) ร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกกัญชง บริษัท ไลฟ์สตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอาร์เอส กรุ๊ป และกลุ่มซีพีสนใจในการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้จับมือกับพันธมิตร เร่งงานวิจัยและพัฒนา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากภาคเอกชนและภาครัฐกันอย่างคึกคัก
โดยในวันพุธที่ 7 เมษายนนี้ ตนได้นัดประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมกัญชากัญชง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเกษตรอนาคต อาหารอนาคต และโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ทุกกลุ่มจังหวัดมีฐานการแปรรูปอย่างเสมอภาคทั่วทั้งประเทศ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2356 ครั้ง