เจาะมาตรการดูแลคุณภาพอากาศ กับ กฟผ. แม่เมาะ ใส่ใจ ควบคุม ดูแล ในทุกกระบวนการ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2096 ครั้ง

ในเดือนมกราคม – เมษายน ของทุกปีพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 มากกว่าภาคอื่น โดยสาเหตุหลักเกิดจาก การเผาป่าและเผาเศษวัชพืชทางเกษตร ตามสถิติภาคเหนือจะมีฝุ่นมาก หลังจากนั้นสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และเป็นเช่นนี้ทุกๆ ปี

แม้ กฟผ. แม่เมาะ จะไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นในจังหวัดลำปาง แต่ก็มีมาตรการควบคุมฝุ่นอย่างเข้มงวดในทุกกระบวนการ รวมทั้งมาตรการป้องกันฝุ่นของ กฟผ. แม่เมาะ ที่ใช้ในการดำเนินงานขนส่งถ่านหินป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ผลิตไฟฟ้าสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ

เหมืองแม่เมาะ ซึ่งมีภารกิจในการขุดและขนส่งถ่านหินป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ได้มีมาตรการป้องกันการเกิดฝุ่นในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเปิดหน้าดิน มีการฉีดพรมน้ำเพิ่มความชื้นหน้างานก่อนการขุดขนดินและถ่าน ส่วนในขั้นตอนของการลำเลียงดินและถ่านหินมีการฉีดสเปรย์น้ำที่เครื่องโม่และตลอดแนวสายพานลำเสียงดินและถ่านเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น นอกจากนี้ยังมีการราดน้ำถนนในบ่อเหมืองและที่ทิ้งดิน โดยใช้รถบรรทุกน้ำฉีดพรมตามถนนไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่ตลอดเวลา และยังมีการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวกันฝุ่นในพื้นที่ของเหมืองแม่เมาะอีกด้วย พร้อมทั้งเข้มงวดการควบคุมฝุ่นตลอด 24 ชั่วโมง โดยเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจสอบการควบคุมฝุ่นของผู้รับจ้างเปิดหน้าดินในพื้นที่บ่อเหมืองและที่ทิ้งดินและมีการรายงานผลการควบคุมฝุ่นเป็นประจำทุกกะทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่น

ในส่วนกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้ใช้เทคโนโลยีเครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นได้ถึง 99.7% รวมทั้งยังมีเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่นอกจากจะดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์แล้วยังสามารถดักจับฝุ่นได้อีกชั้นหนึ่ง ทำให้ฝุ่นที่ออกจากปล่องโรงไฟฟ้ามีปริมาณน้อยมาก

ส่วนถ่านหินที่ผ่านการเผาไหม้แล้วมีสภาพเป็นเถ้าถ่านหิน จะถูกลำเลียงออกจากโรงไฟฟ้าด้วยสายพานลำเลียงระบบปิดเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย โดยโรงไฟฟ้าจะฉีดพรมน้ำบริเวณบ่อกักเก็บเถ้าถ่านหินและยิปซั่ม รวมทั้งฉีดพ่นน้ำอาคารสถานที่ทำงานต่างๆ เพื่อช่วยป้องกันการฟุ้งกระจายของเถ้าถ่านหินและลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองด้วย

จะเห็นได้ว่า กฟผ. แม่เมาะมีมาตรการควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นในกระบวนการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งนอกจากจะควบคุมการเกิดฝุ่นในกระบวนการผลิตไฟฟ้าแล้ว กฟผ. แม่เมาะ ยังห่วงใยชุมชนในพื้นที่ และชักชวนมาช่วยกันลดปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 โดยจัดตั้งศูนย์ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน กฟผ. แม่เมาะ และมีโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนในเกิดการลดฝุ่นในระยะยาว

  • โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 เพื่อรณรงค์ลดการเผาป่า และเผาเศษวัชพืช พร้อมทั้งได้จัดทำแอพพลิเคชั่น “Lampang Hotspot” เพื่อรายงานข้อมูลฝุ่น PM 2.5 และจุดความร้อนในพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อให้ชุมชนสามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และจุดความร้อนจากการเผา กรณีพบจุดความร้อนในพื้นที่หมู่บ้านก็สามารถเข้าแก้ไขระงับเหตุได้ทันท่วงที
  • โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดย กฟผ.เข้าไปสอนชุมชนทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักจากเศษพืชทางการเกษตร พร้อมรับซื้อปุ๋ยจากชุมชน เพื่อนำไปใช้ในงานฟื้นฟูสภาพเหมืองแม่เมาะ ซึ่งช่วยลดการเผาป่าและเผาเศษวัชพืชทางการเกษตร
  • โครงการสนับสนุนจัดตั้งป่าชุมชนในท้องที่อำเภอแม่เมาะ, โครงการอนุรักษ์ป่าห้วยคิงตอนบน และโครงการสร้างฝายชะลอน้ำเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ คืนสมดุลสู่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ตัดไม้ทำลายป่าและปัญหาไฟป่า

เรียกได้ว่าทุกโครงการนั้นมีประโยชน์ต่อชุมชนมากมาย และยังเป็นการปลูกจิตสำนึก สร้างความเข้าใจ ให้ชุมชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของตัวเองลดการเผาป่าอีกด้วย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2096 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน