กฟผ. ดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2848 ครั้ง

ถ้าพูดถึงโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่เมืองหลวง คงไม่มีใครไม่รู้จักโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี ที่เริ่มเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับชาวกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 การที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืนนั้น ย่อมต้องมีมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยม นอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศแล้ว ยังมีพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าอีกด้วย

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพระนครเหนือมีโรงไฟฟ้าจำนวน 2 ชุด กำลังผลิตรวม 1,547 เมกะวัตต์ ขณะที่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้กำหนดให้มีโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) หรือ ชุดที่ 3 ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2571 โดยมีแผนดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ กฟผ. สำนักงานกลาง ดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า จึงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการอาศัยอยู่ร่วมกับคนในชุมชน

โดยโรงไฟฟ้าพระนครเหนือได้มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างเข้มงวดใน 2 ลักษณะไปพร้อมกัน ประกอบด้วย 1. การตรวจวัดจากปล่องโรงไฟฟ้า (Continuous Emission Monitoring System: CEMS) เพื่อตรวจวัดสารประกอบที่ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2. การตรวจวัดพื้นที่โดยรอบบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (Ambient Air Quality Monitoring) หากพบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน หรือแนวโน้มเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้น ทางโรงไฟฟ้าจะดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขทันที นอกจากนี้ เพื่อให้ชุมชนได้ทราบกระบวนการผลิตไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าพระนครเหนือได้ติดตั้งจอแสดงผลตรวจวัดคุณภาพอากาศ บริเวณทางเข้าโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และ บริเวณถนนบางกรวย-ไทรน้อย ให้ชุมชนได้รับทราบข้อมูลแบบตลอดเวลา (real time)

ปัจจุบัน ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. ได้นำนวัตกรรมระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ของ กฟผ. (AR-QADS หรือ AiR Quality Automated-program for Decision-making Support) สำหรับการพยากรณ์ข้อมูลลมและสภาพอากาศประสิทธิภาพสูง นำมาใช้งานในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กฟผ. แบบรายชั่วโมงล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งภายในโปรแกรม “AR-QADS” ประกอบไปด้วยระบบการพยากรณ์ข้อมูลลมและสภาพอากาศ และระบบพยากรณ์ระดับความเข้มข้นของมลสารของแต่ละพื้นที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งช่วยยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะคุณภาพอากาศ ทั้งในเชิงรุก และการป้องกันปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

ในปี 2563 ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการพยากรณ์ข้อมูลลมและสภาพอากาศในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือแล้วเสร็จ นับเป็นพื้นที่ดำเนินการลำดับที่ 9 เพิ่มเติมจากพื้นที่เดิม ได้แก่ 1. พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง 2. พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 3. พื้นที่รอบโรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ 4. พื้นที่เดินเรือและชายฝั่งโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ 5. พื้นที่รอบโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง จ.นครราชสีมา และยังนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม ได้แก่ 6. พื้นที่อำเภอเทพา จ.สงขลา 7. พื้นที่เดินเรือและชายฝั่งบริเวณพื้นที่อำเภอเทพา จ.สงขลา ที่ชุมชนสามารถนำไปใช้เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศก่อนการออกเรือประมง และ 8. พื้นที่คาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเตือนภัยจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน

นอกจากนี้ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการและโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ได้สนับสนุนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการค้นหาต้นตอที่แท้จริงของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จึงผลักดันให้มีการสนับสนุนทุนวิจัย กฟผ. ให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อวิจัยโครงการการสำรวจมลสารทางอากาศ การจำแนกแหล่งกำเนิดของฝุ่น กรณีศึกษาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เพื่อจัดทำบัญชีการระบายมลสารทางอากาศ และจัดทำฐานข้อมูลค่าปัจจัยการปล่อยมลสารสำหรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงการศึกษาระดับฝุ่น PM2.5 พร้อมจำแนกแหล่งกำเนิดของฝุ่นในชุมชนใกล้เคียงโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นตอของฝุ่น PM 2.5ซึ่งสามารถแบ่งเป็นแหล่งกำเนิดหลักๆได้ จากแหล่งกำเนิดกลุ่มที่ 1 มีสัดส่วนมากที่สุด คือฝุ่นจากถนนและยานพาหนะ แหล่งกำเนิดที่มีสัดส่วนรองลงมาจากกแหล่งกำเนิดกลุ่มที่ 2 คือ ฝุ่นจากการเผาชีวมวล และแหล่งกำเนิดกลุ่มที่ 3 คือ ฝุ่นจากละอองทะเลและฝุ่นดิน ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยดำเนินการไปได้แล้วประมาณร้อยละ 95 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2564

สิ่งที่ กฟผ. ดำเนินการทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าภารกิจของ กฟผ. ไม่ได้มีเพียงการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า แต่ได้ให้ความสำคัญยิ่งด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุม ทั้งมาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมระบบพยากรณ์ลมและสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อหาต้นตอปัญหาคุณภาพอากาศที่กำลังกระทบวิถีชีวิตของคนไทย เพื่อให้มีคุณภาพอากาศที่ดีตลอดเวลา และสานต่อลมหายใจที่บริสุทธิ์ของประชาชนในเขตเมืองหลวง เป็นลมหายใจแห่งอนาคต Breathe our Future ที่ทุกคนต้องรวมพลังกันดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2848 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน